หน่วยที่ 2

กฎหมายแพ่งและกฎหมายอาญา


กฎหมายแพ่งและพาณิชย์


หลักทั่วไปเกี่ยวกับสิทธิและการใช้สิทธ


1.ในการใช้สิทธิแห่งตนก็ดี ในการชำระหนี้ก็ดี บุคคลทุกคนต้องกระทำโดยสุจริต (มาตรา 5)


2. ถ้ามิได้กำหนดดอกเบี้ยไว้ ให้ใช้อัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี (มาตรา 7)


3. ลายพิมพ์นิ้วมือ แกงได หรือเครื่องหมายอื่นทำนองเช่นว่านี้ก็ดี ทำลงในเอกสาร ถ้าไม่ได้ทำต่อหน้าพนักงานเจ้าหน้าที่ หากมีพยานลงลายมือชื่อรับรอง 2 คนแล้ว เสมอกับลงลายมือชื่อ (มาตรา 9)


4. การลงจำนวนเงินในเอกสารด้วยตัวอักษรและตัวเลข ถ้าไม่ตรงกันและมิอาจทราบเจตนาที่แท้จริงได้ ให้ใช้จำนวนเงินที่เขียนเป็นตัวอักษรเป็นประมาณ ถ้าไม่ตรงกันหลายแห่ง ให้เอาจำนวนเงินหรือปริมาณน้อยที่สุดเป็นประมาณ (มาตรา 12 , 13 )


5. ถ้าเอกสารทำไว้สองภาษา เป็นภาษาไทยภาษาหนึ่งด้วย หากมีความแตกต่างกันและไม่อาจทราบเจตนาของคู่กรณีได้ว่าจะให้ใช้ภาษาใดบังคับ ให้ใช้ภาษาไทยบังคับ (มาตรา 14)

บุคคล

   บุคคลธรรมดา


  สภาพบุคคล ย่อมเริ่มแต่เมื่อคลอด การคลอดนั้นหมายถึง การที่ทารกออกมาจากครรภ์มารดาหมดทั้งตัวแล้ว แม้จะยังไม่ตัดสายสะดือ และต้องรอดอยู่ด้วย แม้เพียงชั่วระยะเวลานิดเดียวก็มีสิทธิต่างๆ ในทรัพย์สินย้อนไปตั้งแต่วันแรกที่ปฏิสนธิในครรภ์มารดก เช่น อาจรับมรดกของบิดาซึ่งตายก่อนเด็กคลอดได้ เป็นต้น (มาตรา 15)


ภูมิลำเนาของบุคคล มีหลักตามกฎหมายดังนี้


1. ภูมิลำเนาของบุคคลธรรมดา ได้แก่ ถิ่นอันบุคคลนั้นมีสถานที่อยู่เป็นหลักแหล่งสำคัญ (ม.37)


2. ถ้าบุคคลมีถิ่นที่อยู่หลายแห่งสับเปลี่ยนกัน หรือมีแหล่งที่ทำมาหากินเป็นปกติหลายแห่ง ก็ให้ถือเอาแห่งใดแห่งหนึ่งเป็นภูมิลำเนาของบุคคลนั้น (ม. 38)


3. ถ้าภูมิลำเนาไม่ปรากฏ ให้ถือว่าถิ่นที่อยู่เป็นภูมิลำเนา (ม.39)


4. ถ้าไม่มีถิ่นที่อยู่เป็นปกติ หรือไม่มีที่ทำการงานเป็นหลักแหล่ง ถ้าพบตัวในถิ่นไหนก็ให้ถือว่าถิ่นนั้นเป็นภูมิลำเนา (ม. 40)


5. บุคคลอาจแสดงเจตนากำหนดภูมิลำเนา ณ ถิ่นใดเพื่อกระทำการใด ก็ถือว่าถิ่นนั้นเป็นภูมิลำเนาเฉพาะการนั้น (ม. 42)


6. ภูมิลำเนาของบุคคลบางประเภท เช่น ผู้เยาว์ หรือผู้ไร้ความสามารถ กฎหมายให้ใช้ภูมิลำเนาของผู้แทนโดยชอบธรรมหรือของผู้อนุบาล (ม.44,45)


7. ข้าราชการ ภูมิลำเนาได้แก่ถิ่นที่ทำงานตามตำแหน่งหน้าที่อยู่ประจำ ถ้าเป็นเพียงแต่ได้รับคำสั่งให้ไปช่วยราชการชั่วคราวไม่ถือว่าที่นั้นเป็นภูมิลำเนา (ม. 46)


8. ผู้ที่ถูกจำคุกตามคำพิพากษาถึงที่สุดหรือตามคำสั่งโดยชอบด้วยกฎหมาย ภูมิลำเนาได้แก่ เรือนจำหรือทัณฑสถานที่ถูกจำคุกอยู่ จนกว่าจะได้รับการปล่อยตัว (ม. 47)


*** การเปลี่ยนภูมิลำเนากระทำได้โดยการแสดงเจตนาว่าจงใจจะเปลี่ยนภูมิลำเนาและย้ายถิ่นที่อยู่ (ม. 41)


ความสามารถของบุคคล1. ผู้เยาว์ บรรลุนิติภาวะเมื่ออายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ (ม. 19)


ทำการสมรสโดยชอบด้วยกฎหมาย (ม.20) สมรสเมื่อชายและหญิงมีอายุ 17ปีบริบูรณ์ หรือ เมื่อศาลอนุญาตให้ทำการสมรส (ม. 1448) จำไว้ว่า “บรรลุแล้วบรรลุเลย”


ผู้เยาว์จะทำนิติกรรมใดๆ ต้องได้รับความยินยอมของ “ผู้แทนโดยชอบธรรม” ก่อน มิฉะนั้นนิติกรรมนั้นๆ เป็นโมฆียะ คืออาจถูกบอกล้างได้ในภายหลัง (ม.21)


ผู้เยาว์อาจทำนิติกรรมที่สมบูรณ์ได้เอง โดยไม่ต้องขอความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรม คือ


1. ทำพินัยกรรมได้เมื่อมีอายุ 15 ปีบริบูรณ์ (ม.25)


2. นิติกรรมที่เป็นประโยชน์แก่ผู้เยาว์ฝ่ายเดียว (ม. 22) เช่น รับการให้โดยไม่มีข้อผูกพัน


3. นิติกรรมที่ต้องทำเองเฉพาะตัว (ม. 23) เช่น การรับรองบุตร กรณีตาม มาตรา 1548


4. นิติกรรมที่สมควรแก่ฐานานุรูป และเป็นการจำเป็นในการดำรงชีพตามควร (ม.24)


5. เมื่อผู้เยาว์ได้รับอนุญาตจากผู้แทนโดยชอบธรรมให้ประกอบการค้า (ม.27)


2. คนไร้ความสามารถ คือ คนวิกลจริตที่คู่สมรส บุพการี ผู้สืบสันดาน ของผู้นั้น หรือพนักงานอัยการได้ร้องขอต่อศาลให้สั่งให้บุคคลนั้นเป็นคนไร้ความสามารถ (ม. 28) และจัดให้อยู่ในความอนุบาล นิติกรรมที่คนไร้ความสามรถกระทำลงย่อมตกเป็นโมฆียะทั้งสิ้น แม้จะได้รับความยินยอมจาก “ผู้อนุบาล” ก็ไม่ได้


(ม. 29)


ส่วนคนวิกลจริตที่ศาลยังไม่ได้สั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ หากไปทำนิติกรรม ย่อมต้องถือว่ามีผลสมบูรณ์ เว้นแต่ว่า ได้กระทำในขณะจริตวิกล + คู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งได้รู้อยู่แล้ว นิติกรรมนั้นจึงตกเป็นโมฆียะ (ม.30)


3. คนเสมือนไร้ความสามารถ คือบุคคลที่ปรากฏว่า ไม่สามารถจัดทำการงานของตนเองได้ เพราะมีกายพิการ จิตฟั่นเฟือน ไม่สมประกอบ แต่ไม่ถึงขนาดวิกลจริต ประพฤติสุรุ่ยสุร่าย เสเพลเป็นอาจิณ ติดสุรายาเมา เมื่อคู่สมรส บุพการี ผู้สืบสันดาน หรือพนักงานอัยการร้องขอต่อศาล ศาลจะสั่งให้บุคคลนั้นเป็นคนเสมือนไร้ความสามารถ โดยให้อยู่ใน “ความพิทักษ์” ก็ได้ (ม. 32)


การสิ้นสภาพบุคคล


1. ตาย (ม.15)


2. สาบสูญ (โดยผลของกฎหมาย) ได้แก่


2.1 บุคคลไปจากภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่ โดยไม่มีใครทราบว่าเป็นตายร้ายดีอย่างไรตลอดระยะเวลา 5 ปี (ม.61 วรรคแรก)


2.2 บุคคลไปทำการรบหรือสงคราม หรือตกไปอยู่ในเรือเมื่ออับปราง หรือตกไปในฐานะที่จะเป็นภยันตรายแก่ชีวิตประการอื่นใด หากนับแต่เมื่อภยันตรายประการอื่นๆ ได้ผ่านพ้นไปแล้วนับได้เวลาถึง 2 ปี ยังไม่มีใครทราบว่าบุคคลนั้นเป็นตายร้ายดีอย่างไร (ม.61 วรรคสอง)


   นิติบุคคล เกิดขึ้นตามกฎหมาย เช่น


1. ทบวงการเมือง ได้แก่ กระทรวง ทบวง กรมในรัฐบาล เทศบาลและสุขาภิบาลทั้งหลาย กรมตำรวจ กองทัพบก/เรือ/อากาศ แต่กรมในกองทัพนั้นไม่เป็นนิติบุคคล


2. วัดวาอาราม เฉพาะวัดในพระพุทธศาสนา ที่เรียกกันว่าเป็นวัดที่ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา


ส่วนถ้าเป็นมัสยิดหรือวัดของศาสนาคริสต์ ต้องจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลจึงจะเป็นเจ้าของที่ดินได้


3. ห้างหุ้นส่วนที่จดทะเบียนแล้ว / บริษัทจำกัด / สมาคม และมูลนิธิ ส่วนสาขาของนิติบุคคลต่างประเทศที่เข้ามาประกอบการในประเทศไทยก็เป็นนิติบุคคลเช่นเดียวกับนิติบุคคลในประเทศนั้น แม้นิติบุคคลในต่างประเทศนั้นจะมิได้มาจดทะเบียนในประเทศไทยก็ตาม เมื่อนิติบุคคลดังกล่าวได้เป็นนิติบุคคลโดยชอบด้วยกฎหมายของประเทศนั้นๆ แล้ว

ทรัพย์

     ความหมาย


“ทรัพย์” หมายความว่า วัตถุมีรูปร่าง (ม.137)


“ทรัพย์สิน” หมายความรวมทั้งทรัพย์และวัตถุไม่มีรูปร่าง ซึ่งอาจมีราคาและถือเอาได้ (ม. 138)


      ประเภทของทรัพย์


1.อสังหาริมทรัพย์ คือ ทรัพย์ที่เคลื่อนที่ไม่ได้ เช่น


   1.1 ที่ดิน หมายถึง พื้นแผ่นดิน รวมตลอดถึง ภูเขา เกาะ และที่ชายทะเลด้วย


   1.2 ทรัพย์ที่ติดกับที่ดินมีลักษณะเป็นการถาวร


   1.3 ทรัพย์ซึ่งประกอบเป็นอันเดียวกับที่ดิน


   1.4 สิทธิอันเกี่ยวกับ 1.1, 1.2 และ 1.3 อันได้แก่ สิทธิในกรรมสิทธิ์ (ม.1336), สิทธิครอบครอง (ม.1367), สิทธิจำนอง, สิทธิเก็บกิน (ม.1417) ภาระจำยอม (ม.1387) เป็นต้น


2. สังหาริมทรัพย์ ได้แก่


   2.1 ทรัพย์สินอื่นนอกจากอสังหาริมทรัพย์


   2.2 สิทธิทั้งหลายอันเกี่ยวกับสังหาริมทรัพย์ เช่น สิทธิจำนอง สิทธิยึดหน่วง เป็นต้น


3. ทรัพย์แบ่งได้ (ม.141) ได้แก่ทรัพย์อันอาจแยกออกจากกันเป็นส่วนๆ ได้ โดยยังคงสภาพเดิมอยู่


4. ทรัพย์แบ่งไม่ได้ (ม.142) ได้แก่


   4.1 ทรัพย์ที่ไม่อาจแยกออกจากกันได้โดยสภาพ เช่น บ้าน โต๊ะ เก้าอี้ เป็นต้น


   4.2 ทรัพย์ที่กฎหมายถือว่าแบ่งไม่ได้ เช่น หุ้นของบริษัท ส่วนควบของทรัพย์ เป็นต้น


5. ทรัพย์นอกพาณิชย์ (ม.143) ได้แก่


   5.1 ทรัพย์ที่ไม่อาจถือเอาได้ เช่น ก้อนเมฆ ดวงอาทิตย์ เป็นต้น


   5.2 ทรัพย์ที่ไม่อาจโอนกันได้โดยชอบด้วยกฎหมาย เช่น ที่ดินธรณีสงฆ์ ยาเสพติด เป็นต้น


    ส่วนประกอบของทรัพย์


1. ส่วนควบ (ม.144) ได้แก่ ส่วนซึ่งว่าโดยสภาพแห่งทรัพย์ หรือโดยจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่น เป็นสาระสำคัญในความเป็นอยู่ของทรัพย์นั้น และไม่อาจจะแยกจากกันได้ นอกจากทำลาย ทำให้บุบสลาย หรือทำให้ทรัพย์นั้นเปลี่ยนแปลงรูปทรงหรือสภาพไป ข้อยกเว้นในเรื่องส่วนควบมีดังนี้ (ม.145, 146)


   1.1 ไม้ล้มลุกหรือธัญชาติ


   1.2 ทรัพย์อันติดกับที่ดิน หรือโรงเรือนชั่วคราว


   1.3 โรงเรือนหรือการปลูกสร้างอย่างอื่น ซึ่งผู้มีสิทธิในที่ดินของผู้อื่นได้ใช้สิทธิปลูกทำลงไว้


2. อุปกรณ์ (ม.147) ได้แก่ สิ่งที่ใช้บำรุงดูแลรักษาทรัพย์ประธาน และสามารถแยกออกจากทรัพย์ประธานได้โดยไม่ทำให้เปลี่ยนแปลงรูปทรง ต่างจากการเป็นส่วนควบ


3. ดอกผล คือ ผลประโยชน์ที่ได้งอกเงยจากทรัพย์สิ่งใดสิ่งหนึ่งนั้นเองโดยสม่ำเสมอ แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ (ม.148)


    3.1 ดอกผลธรรมดา คือ สิ่งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติของทรัพย์ซึ่งได้มาจากตัวทรัพย์ โดยการมีหรือใช้ทรัพย์นั้นตามปกตินิยม เช่น ผลไม้ น้ำนม ขนสัตว์ และลูกของสัตว์ เป็นต้น


     3.2 ดอกผลนิตินัย ซึ่งเกิดขึ้นโดยผลของกฎหมาย เช่น ดอกเบี้ย กำไร ค่าเช่า ค่าปันผล ฯ

นิติกรรม


   หลักเกณฑ์สำคัญของนิติกรรม (ม.149)


1) ต้องมีการแสดงเจตนา   2) ต้องกระทำโดยใจสมัคร   3) มุ่งให้มีผลผูกพันทางกฎหมาย    4) เป็นการทำลงโดยชอบด้วยกฎหมาย และ 5) ผู้ที่ทำนิติกรรมต้องมี “ความสามารถ” ในการทำนิติกรรมด้วย


     ประเภทของนิติกรรม


1. นิติกรรมฝ่ายเดียว เช่น การทำพินัยกรรม / การปลดหนี้ (ม.340) / การบอกเลิกสัญญา (ม.386) / โฆษณาจะให้รางวัล (ม.362 และ 365) เป็นต้น นิติกรรมฝ่ายเดียวนี้ มีผลตามกฎหมายแล้ว แม้จะยังไม่มีผู้รับก็ตาม


2. นิติกรรมหลายฝ่าย คือ มีฝ่ายที่ทำคำเสนอและอีกฝ่ายทำคำสนอง เมื่อคำเสนอและคำสนองตรงกัน ก็เกิดสัญญา เช่น สัญญาซื้อขาย / สัญญาเช่า / สัญญาค้ำประกัน เป็นต้น



      ความไม่สมบูรณ์ของนิติกรรม


1. ความสามารถในการทำนิติกรรม กล่าวคือ ถ้านิติกรรมได้กระทำลงโดยผู้หย่อนความสามารถ คือ


   1.1) ผู้เยาว์    1.2) คนไร้ความสามารถ    1.3) คนเสมือนไร้ความสามารถ 􀀨 เป็นโมฆียะ (ม.153)


2. วัตถุประสงค์แห่งนิติกรรม


   2.1) เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย


   2.2) เป็นการพ้นวิสัย


  2.3) เป็นการขัดความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน เป็นโมฆะ   (ม.150)


3. แบบแห่งนิติกรรม


  3.1) การทำเป็นหนังสือ เช่น การโอนหนี้ (ม.306) / สัญญาเช่าซื้อ (ม.572) / สัญญาตัวแทนบางประเภท (ม.798) ถ้าตกลงเพียงวาจา สัญญานั้น 􀀨 เป็นโมฆะ


  3.2) การทำเป็นหนังสือต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ เช่น การคัดค้านตั๋วแลกเงิน (ม.961) / การทำพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมือง (ม.1658) เป็นต้น ถ้าไม่ได้ทำเป็นหนังสือต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ย่อมใช้บังคับไม่ได้


  3.3) การทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ เช่น สัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ (ม. 456) / สัญญาขายฝาก (ม.491) / สัญญาจำนอง (ม.714) เป็นต้น ถ้าไม่ทำตามแบบ 􀀨 เป็นโมฆะ


4. การแสดงเจตนา


   4.1 เจตนาอย่างหนึ่งแต่แสดงออกอีกอย่างหนึ่ง นิติกรรมนั้นมีผลใช้บังคับได้ เว้นแต่อีกฝ่ายหนึ่งจะได้รู้ถึงเจตนาที่แท้จริง (ม.154) หรือ การแสดงเจตนาลวง โดยสมรู้กับคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่ง (ม.155) หรือนิติกรรมอำพราง (ม.155 ว.สอง) 􀀨 เป็นโมฆะ
   4.2 การแสดงเจตนาโดยสำคัญผิด


         (1) สำคัญผิดในสาระสำคัญของนิติกรรม


          - สำคัญผิดในประเภทของนิติกรรม


          - สำคัญผิดในตัวบุคคลซึ่งเป็นคู่สัญญา


           - สำคัญผิดในวัตถุแห่งนิติกรรม เป็นโมฆะ      (ม.156)


         (2) สำคัญผิดในคุณสมบัติของบุคคลหรือทรัพย์ ถ้าคุณสมบัติดังกล่าว เป็นสาระสำคัญของนิติกรรม กล่าวคือ ถ้ารู้ว่า บุคคลหรือทรัพย์ไม่ได้คุณสมบัติที่ต้องการ ก็คงไม่ทำนิติกรรมด้วย 􀀨 นิติกรรมนั้นเป็นโมฆียะ (ม. 157)


         (3) สำคัญผิดเพราะกลฉ้อฉล ได้แก่ การที่คู่กรณีฝ่ายหนึ่งใช้อุบายหลอกลวง ให้เขาหลงเชื่อ แล้วเขาทำนิติกรรม ซึ่งถ้ามิได้ใช้อุบายหลอกเช่นว่านั้น เขาคงไม่ทำนิติกรรมด้วย 􀀨 นิติกรรมนั้นเป็นโมฆียะ (ม. 159)


         (4) การแสดงเจตนาเพราะถูกข่มขู่ 􀀨 นิติกรรมนั้นเป็นโมฆียะ (ม. 164) ถ้าการข่มขู่นั้นถึงขนาดที่ทำให้ผู้ถูกขู่กลัวจริงๆ แต่การขู่ว่าจะใช้สิทธิตามปกตินิยมก็ดี หรือความกลัวเพราะนับถือยำเกรงก็ดี ไม่ถือว่าเป็นการขู่ (ม.165)


      
      ผลแห่งความไม่สมบูรณ์ของนิติกรรม


“โมฆะ” หมายถึง นิติกรรมนั้นเสียเปล่ามาตั้งแต่ต้น ไม่มีผลบังคับตามกฎหมาย คือ เสมือนว่าไม่มีการทำนิติกรรมนั้นๆ เลย จะฟ้องร้องบังคับกันไม่ได้ จะให้สัตยาบันก็ไม่ได้ (ม.172)


“โมฆียะ” หมายถึง นิติกรรมที่สมบูรณ์ตามกฎหมายจนกว่าจะมีการบอกล้าง (ม.176) ถ้าไม่มีการบอกล้างภายในระยะเวลา ( 1 ปี นับแต่เวลาที่อาจให้สัตยาบันได้หรือ 10 ปี นับแต่ได้ทำนิติกรรม ม. 181) หรือมีการให้สัตยาบัน (ม.179) โดยบุคคลที่กฎหมายกำหนด นิติกรรมนั้นเป็นอันสมบูรณ์ตลอดไป

       สัญญา


สาระสำคัญของสัญญา


1. ต้องมีบุคคลตั้งแต่ 2 ฝ่ายขึ้นไป


2. ต้องมีการแสดงเจตนาต้องตรงกัน (คำเสนอ+คำสนองตรงกัน)


“คำเสนอ” เป็นคำแสดงเจตนาขอทำสัญญา คำเสนอต้องมีความชัดเจน แน่นอน ถ้าไม่มีความชัดเจน แน่นอน เป็นแต่เพียงคำเชิญชวน


“คำสนอง” คือ การแสดงเจตนาของผู้สนองต่อผู้เสนอ ตกลงรับทำสัญญาตามคำเสนอ คำสนองต้องมีความชัดเจน แน่นอน ปราศจากข้อแก้ไข ข้อจำกัด หรือข้อเพิ่มเติมใดๆ


3. ต้องมีวัตถุประสงค์ในการทำสัญญา


       ประเภทของสัญญา


1. สัญญาต่างตอบแทนกับสัญญาไม่ต่างตอบแทน


“สัญญาต่างตอบแทน” ได้แก่ สัญญาที่ทำให้คู่สัญญาต่างเป็นเจ้าหนี้และลูกหนี้ซึ่งกันและกัน


(ม. 369) กล่าวคือ คู่สัญญาต่างมีหนี้ หรือหน้าที่จะต้องชำระให้แก่กันเป็นการตอบแทน


“สัญญาไม่ต่างตอบแทน” คือ สัญญาที่ก่อหนี้ฝ่ายเดียว เช่น สัญญายืม (ม.640, 650)


2. สัญญามีค่าตอบแทนกับสัญญาไม่มีค่าตอบแทน


3.สัญญาประธานกับสัญญาอุปกรณ์
   “สัญญาประธาน” หมายถึง สัญญาที่เกิดขึ้นและเป็นอยู่ได้โดยลำพัง ไม่ขึ้นอยู่กับสัญญาอื่น
   “สัญญาอุปกรณ์” นอกจากสัญญาอุปกรณ์จะต้องสมบูรณ์ตามหลักความสมบูรณ์ของตัวเองแล้ว ยังขึ้นอยู่กับความสมบูรณ์ของสัญญาประธานอีกด้วย กล่าวคือ ถ้าสัญญาประธานไม่สมบูรณ์ สัญญาอุปกรณ์ย่อมไม่สมบูรณ์ด้วยเช่นกัน เช่น สัญญาค้ำประกัน (ม.680) / สัญญาจำนอง (ม.702) / สัญญาจำนำ (ม.747)


4. สัญญาเพื่อประโยชน์บุคคลภายนอก โดยคู่สัญญาตกลงว่าจะชำระหนี้ให้แก่บุคคลภายนอกโดยที่บุคคลภายนอกนั้นไม่ได้เข้ามาเป็นคู่สัญญาด้วย เช่น สัญญาประกันชีวิต


5. เอกเทศสัญญาตาม ป.พ.พ. บรรพ 3 กับสัญญาไม่มีชื่อ


           สิทธิในการบอกเลิกสัญญา


1. สิทธิบอกเลิกสัญญาโดยบทบัญญัติแห่งกฎหมาย


     1.1 เมื่อคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งไม่ชำระหนี้ คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งจะกำหนดระยะเวลาพอสมควร แล้วบอกกล่าวให้ฝ่ายนั้นชำระหนี้ภายในระยะเวลานั้นก็ได้ ถ้าฝ่ายนั้นไม่ชำระหนี้ภายในระยะที่กำหนดให้ อีกฝ่ายหนึ่งจะเลิกสัญญาเสียก็ได้ (ม.387)


    1.2 เมื่อคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งไม่ชำระหนี้ซึ่งโดยสภาพหรือโดยเจตนาที่คู่สัญญาได้แสดงไว้ วัตถุประสงค์แห่งสัญญาจะเป็นผลสำเร็จได้ก็แต่ด้วยการชำระหนี้ ณ เวลาที่กำหนดหรือภายในระยะเวลาซึ่งกำหนดไว้ เจ้าหนี้มีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ทันที โดยไม่จำเป็นต้องบอกกล่าวกำหนดระยะเวลาชำระหนี้ก่อน    (ม.388)


    1.3 เมื่อการชำระหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วนกลายเป็นพ้นวิสัย เพราะเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งอันจะโทษลูกหนี้ได้ เจ้าหนี้จะเลิกสัญญาเสียก็ได้ (ม.389)


2. สิทธิบอกเลิกสัญญาโดยข้อสัญญา หมายความว่า คู่สัญญาได้ตกลงกันกำหนดสิทธิในการเลิกสัญญาไว้ล่วงหน้า ถ้ามีเหตุการณ์อย่างใดอย่างหนึ่งตามที่กำหนดไว้เกิดขึ้น ก็ให้สิทธิบอกเลิกสัญญาแก่คู่กรณี


        ผลของการเลิกสัญญา


1. คู่สัญญาแต่ละฝ่ายต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งกลับคืนสู่ฐานะเดิม (ม.391 วรรคหนึ่ง) เช่น


- ทรัพย์สินที่ได้ส่งมอบหรือโอนให้แก่กันไปตามสัญญา ก็ต้องคืนทรัพย์สินนั้นในสภาพที่เป็นอยู่เดิมขณะมีการส่งมอบหรือโอนไปตามสัญญา และถ้าเป็นการพ้นวิสัยที่จะคืนได้ทั้งหมดหรือบางส่วน ก็ต้องชดใช้ค่าเสียหายแทน


- หากทรัพย์สินที่จำต้องส่งคืนนั้นเป็นเงินตรา กฎหมายกำหนดให้บวกดอกเบี้ย คิดตั้งแต่เวลาที่ได้รับเงินไปด้วย (ม.391 วรรคสอง) อัตราดอกเบี้ยนั้น ถ้ามิได้กำหนดเอาไว้ ให้ใช้อัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี (ม.7)


- อย่างไรก็ตาม การเลิกสัญญาอันมีผลทำให้คู่สัญญากลับคืนสู่ฐานะเดิมนี้ จะเป็นสาเหตุทำให้บุคคลภายนอกเสื่อมเสียสิทธิไม่ได้


2. การเลิกสัญญาไม่กระทบกระเทือนถึงสิทธิของเจ้าหนี้ที่จะเรียกค่าเสียหาย (มาตรา 391 วรรคท้าย)


ตั๋วเงินตามกฎหมาย มี 3 ชนิด คือ


1. ตั๋วแลกเงิน คือ หนังสือตราสาร ซึ่งบุคคลหนึ่งเรียกว่า “ผู้สั่งจ่าย” สั่งบุคคลอีกคนหนึ่งเรียกว่า “ผู้จ่าย” ให้ใช้เงินจำนวนหนึ่งแก่บุคคลคนหนึ่งหรือให้ใช้ตามคำสั่งของบุคคลคนหนึ่ง ซึ่งเรียกว่า “ผู้รับเงิน” (ม.908) ตั๋วแลกเงินจะต้องมีข้อความบอกว่าเป็น “ตั๋วแลกเงิน” ซึ่งอาจจะใช้ภาษาใดก็ได้ มีคำสั่งอันปราศจากเงื่อนไข ระบุชื่อผู้สั่งจ่ายเงินแก่ผู้รับเงิน หรือ “ผู้ถือ” เป็นจำนวนเงินอันแน่นอนตามวันและสถานที่ใช้เงิน พร้อมทั้งลงวัน เดือน ปีกำหนดใช้เงิน (ถ้าไม่มี ถือว่าใช้เงินเมื่อได้เห็น) / สถานที่ออกตั๋วเงิน มีชื่อหรือยี่ห้อผู้รับเงิน วันและสถานที่ออกตั๋ว และที่สำคัญคือต้องมีลายมือผู้สั่งจ่ายด้วย หากขาดรายการหนึ่งรายการใด ย่อมไม่ใช่ตั๋วแลกเงินตามกฎหมาย


2. ตั๋วสัญญาใช้เงิน คือ หนังสือตราสารซึ่งบุคคลหนึ่งเรียกว่า “ผู้ออกตั๋ว” ให้คำมั่นสัญญาว่าจะใช้เงินจำนวนหนึ่งให้แก่บุคคลหนึ่ง หรือให้ใช้ตามคำสั่งของบุคคลอีกคนหนึ่งเรียกว่า “ผู้รับเงิน”


อย่างไรตาม การที่ผู้สั่งจ่ายไม่ลงวันที่ในตั๋วเงิน แสดงว่ายอมให้ผู้มีสิทธิในตั๋วนั้นลงวันที่ได้โดยสุจริต ตั๋วเงินนั้นย่อมสมบูรณ์


ตั๋วสัญญาใช้เงินจะต้องมีข้อความบอกว่าเป็น “ตั๋วสัญญาใช้เงิน” มีคำมั่นอันปราศจากเงื่อนไขว่าจะใช้เงินเป็นจำนวนแน่นอน มีวัยถึงกำหนดใช้เงิน (ถ้าไม่มี ถือว่าใช้เงินเมื่อเห็น) / มีสถานที่ใช้เงิน (ถ้าไม่มี ให้ถือเอาภูมิลำเนาของผู้ออกตั๋ว) / มีชื่อหรือยี่ห้อผู้รับเงิน วันและสถานที่ออกตั๋ว (ถ้าไม่ระบุวันออกตั๋ว ผู้ทรงตั๋วชอบด้วยกฎหมายและโดยสุจริต จะจดวันถูกต้องแท้จริงลงก็ได้ ถ้าไม่ได้ระบุสถานที่ออกตั๋วไว้ ให้ถือว่าออก ณ ภูมิลำเนาของผู้ออกตั๋ว) และที่สำคัญคือ ต้องลงลายมือชื่อผู้ออกตั๋ว


อนึ่ง ตั๋วสัญญาใช้เงิน ต้องระบุชื่อผู้รับเงินเสมอ จะเป็นตั๋วผู้ถือไม่ได้


3. เช็ค คือ หนังสือตราสารซึ่งบุคคลหนึ่ง เรียกว่า “ผู้สั่งจ่าย” สั่งธนาคารให้ใช้เงินจำนวนหนึ่งเมื่อทวงถามให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง หรือให้ใช้ตามคำสั่งของบุคคลอีกคนหนึ่งเรียกว่า “ผู้รับเงิน” (ม.987)


เช็คมีลักษณะที่สำคัญต่างจากตั๋วเงินประเภทอื่น คือ ผู้จ่ายเงินตามเช็คคือ ธนาคาร และการจ่ายเงินต้องจ่ายเมื่อทวงถามเท่านั้น


ข้อความในเช็คจะต้องมีคำบอกว่าเป็นเช็ค / มีคำสั่งอันปราศจากเงื่อนไขให้ใช้เงินเป็นจำนวนแน่นอน / มีชื่อหรือยี่ห้อของธนาคาร / มีชื่อหรือยี่ห้อของผู้รับเงินหรือให้ใช้เงินแก่ผู้ถือ / มีสถานที่ใช้เงิน / วันและสถานที่ออกเช็ค / และลายมือชื่อผู้สั่งจ่าย ถ้าตราสารใดมีข้อความครบถ้วนตามนี้ก็ถือว่าได้มีการออกเช็ค แม้จะไม่ได้ใช้แบบพิมพ์ของธนาคาร หรือผู้ที่มิได้มีเงินฝากในธนาคาร แต่เอาแบบพิมพ์ของธนาคารของผู้อื่นไปใช้ แล้วธนาคารปฏิเสธการใช้เงิน ผู้สั่งจ่าย ผู้สลักหลังหรือผู้อาวัลต้องรับผิดตามเนื้อความในเช็คนั้น เพราะ เอกสารดังกล่าวมีข้อความครบถ้วนเป็นเช็คแล้ว


ถ้าเช็คมีข้อความนอกเหนือไปจากที่กฎหมายระบุ (ม.988) ย่อมเป็นเช็คที่ชอบด้วยกฎหมาย แต่ข้อความที่เพิ่มดังกล่าวไม่มีผลอย่างหนึ่งอย่างใดในตั๋วเงินนั้นเลย (ม.899)

        หลักสำคัญที่ใช้บังคับร่วมกันสำหรับตั๋วเงินทั้ง 3 ชนิด มีดังนี้ คือ


1. ผู้ใดลงลายมือชื่อของตนในตั๋วเงินนั้น ผู้นั้นต้องรับผิดตามเนื้อความในตั๋วเงินนั้น (ม.900)


2. ตั๋วเงินย่อมสามารถโอนกันได้ ซึ่งมีวิธีการดังนี้ คือ


   2.1 สำหรับตั๋วเงินที่ออกให้แก่ผู้ถือ สามารถโอนให้แก่กันได้ดวยการส่งมอบ (ม.918) ยกเว้นตั๋วสัญญาใช้เงินที่โดยสภาพ ไม่สามารถออกให้แก่ผู้ถือได้ (ม.983 (5))


   2.2 สำหรับตั๋วเงินที่ระบุชื่อผู้รับเงินไว้ชัดแจ้ง สามารถโอนให้แก่กันได้โดยการสลักหลังตั๋วเงินนั้นซึ่งจะเป็นการสลักหลังโดยระบุชื่อผู้รับประโยชน์ หรือเป็นการสลักลอยก็ได้ คือ สลักหลังลงลายมือชื่อของตนโดยไม่ต้องระบุชื่อผู้รับประโยชน์ (ม.919)


3 การอาวัล คือ การค้ำประกันความรับผิดชอบตามตั๋วเงิน ผู้รับอาวัลนั้นจะเป็นบุคคลภายนอกหรือเป็นคู่สัญญาคนใดคนหนึ่งในเช็คนั้นก็ได้ (ม.938)     แบบของการรับอาวัล
        
          1. เขียนด้วยถ้อยคำสำนวน “ใช้ได้เป็นอาวัล” หรือสำนวนอื่นใดที่มีความหมายทำนองเดียวกันไว้ด้านหน้าหรือด้านหลังของเช็คก็ได้ และลงลายมือชื่อผู้รับอาวัล ในกรณีที่คำรับอาวัลไม่ได้ระบุว่าประกันผู้ใดนั้น กฎหมายให้ถือว่าเป็นประกันผู้สั่งจ่าย (ม.939 วรรคท้าย)


          2. เพียงแต่ลงลายมือชื่อของผู้อาวัลในด้านหน้าของเช็ค โดยไม่ต้องเขียนข้อความใดๆ เลยก็มีผลเป็นการอาวัลแล้ว เว้นแต่ในกรณีที่เป็นลายมือชื่อของผู้จ่ายหรือผู้สั่งจ่าย (ม.939 วรรคสาม)


         3. การสลักหลังเช็ค ซึ่งเป็นเช็คที่ออกให้แก่ผู้ถือ ย่อมเท่ากับเป็นการอาวัลผู้สั่งจ่ายแล้ว (ม.921)


ความรับผิดของผู้รับอาวัล ผู้รับอาวัลย่อมต้องผูกพันตนเป็นอย่างเดียวกับบุคคลที่ตนประกัน     (ม.940)


       สิทธิไล่เบี้ยของผู้รับอาวัล


เมื่อผู้รับอาวัลใช้เงินตามเช็คแล้ว ผู้รับอาวัลมีสิทธิในอันที่จะไล่เบี้ยเอาแก่บุคคลซึ่งตนประกันไว้ได้


(ม.940 วรรคท้าย) ในการไล่เบี้ยนี้ ผู้รับอาวัลมีสิทธิไล่เบี้ยเอาแก่ผู้ซึ่งตนค้ำประกันได้เต็มจำนวนตามที่ตนได้ชำระหนี้แทนไป


เช็คขีดคร่อม คือ เช็คที่มีเส้นขนานคู่ ขีดขวางไว้ข้างหน้า ซึ่งในระหว่างเส้นขนานนั้น อาจจะมีข้อความอยู่ในระหว่างเส้นคู่ขนานสั้นหรือไม่ก็ได้ ซึ่งแยกได้เป็น 2 กรณี คือ


1. เช็คขีดคราอมทั่วไป คือ เช็คที่ในระหว่างเส้นคู่ขนานนั้นไม่มีข้อความใดๆ เขียนไว้เลย หรือมีข้อความคำว่า “และบริษัท” หรือ “And Co.” หรือ “& Co.” หรือคำย่ออื่นๆ ซึ่งไม่มีความหมายเฉพาะเจาะจง


(ม.994 วรรคหนึ่ง)


2. เช็คขีดคร่อมเฉพาะ คือ เช็คที่ในระหว่างเส้นคู่ขนาน จะมีชื่อธนาคารใดธนาคารหนึ่งโดยเฉพาะเจาะจงลงไป (ม. 994 วรรคท้าย)


การจ่ายเงินตามเช็คขีดคร่อม ธนาคารจะจ่ายเงินตามเช็คนั้นให้แก่ธนาคารเท่านั้น จะจ่ายโดยตรงให้แก่บุคคลที่นำเช็คนั้นมาขึ้นเงินไม่ได้ เช็คขีดคร่อมจึงให้ประโยชน์ในด้านความปลอดภัยมาก

การรับบุตรบุญธรรม


หลักเกณฑ์ในการรับบุตรบุญธรรม (ม.1598/19)


1. ผู้ที่จะรับบุตรบุญธรรมนั้นต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 25 ปี


2. ผู้รับบุตรบุญธรรมต้องมีอายุแก่กว่าผู้ที่จะเป็นบุตลบุญธรรมอย่างน้อย 15 ปี


3. ในการรับบุคคลที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะเป็นบุตรบุญธรรม จะทำได้ต่อเมื่อได้รับความยินยอมจากบิดาและมารดาของผู้เยาว์ก่อน ในกรณีที่ผู้เยาว์นั้นถูกทอดทิ้งและอยู่ในความดูแลของสถานสงเคราะห์เด็ก ให้ขอความยินยอมจากผู้มีอำนาจในสถานสงเคราะห์เด็กนั้นแทน


4. ในกรณีที่ผู้รับบุตรบุญธรรมหรือผู้ที่จะเป็นบุตรบุญธรรมมีคู่สมรสแล้ว ในการรับหรือเป็นบุตรบุญธรรม ต้องได้รับความยินยอมจากคู่สมรสก่อน


5. ผู้เยาว์เป็นบุตรบุญธรรมของบุคคลหนึ่งอยู่ จะเป็นบุตรบุญธรรมของบุคคลอื่นอีกในขณะเดียวกันไม่ได้ เว้นแต่จะเป็นบุตรบุญธรรมของคู่สมรสของผู้รับบุตรบุญธรรม


6. การรับบุตรบุญธรรมจะสมบูรณ์ต่อเมื่อได้จดทะเบียนตามกฎหมาย

        สิทธิและหน้าที่ของผู้ที่เป็นบุตรบุญธรรม


1. มีฐานะอย่างเดียวกับบุตรชอบด้วยกฎหมายของผู้รับบุตรบุญธรรมนั้น (ม.1598/28)


2. มีหน้าที่ต้องอุปการะเลี้ยงดูผู้รับบุตรบุญธรรม ทำนองเดียวกับบุตรโดยชอบด้วยกฎหมาย (ม.1563)


        สิทธิและหน้าที่ของผู้รับบุตรบุญธรรม


1.มีสิทธิใช้อำนาจปกครองบุตรบุญธรรม


2. ผู้รับบุตรบุญธรรมไม่มีสิทธิรับมรดกของบุตรบุญธรรม ในฐานะทายาทโดยธรรม อย่างไรก็ตาม ถ้าบุตรบุญธรรมตายก่อนโดยไม่มีคู่สมรสหรือผู้สืบสันดาน ผู้รับบุตรบุญธรรมมีสิทธิเรียกร้องทรัพย์สินที่ตนได้ให้แก่บุตรบุญธรรมคืนจากกองมรดก เพียงเท่าที่ยังคงเหลืออยู่หรือภายหลังจากชำระหนี้กองมรดกแล้ว (ม.1598/29 และ ม.1598/30)


3. ผู้รับบุตรบุญธรรมมีหน้าที่ต้องอุการะเลี้ยงดูบุตรบุญธรรม


        การเลิกรับบุตรบุญธรรม


1. โดยความตกลง(ม.1598/3)แต่จะมีผลสมบูรณ์ต่อเมื่อได้จดทะเบียนตามกฎหมาย


2. การเลิกเมื่อมีการสมรสฝ่าฝืน มาตรา 1598/32


3. การเลิกรับโดยคำสั่งศาล (ม.1598/33) และมีผลตั้งแต่เวลาที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุด แต่จะยกขึ้นอ้างบุคคลภายนอกได้ต่อเมื่อจดทะเบียนแล้ว

    มรดก


☺ การตกทอดแห่งมรดก


เมื่อบุคคลใดตายมรดกตกทอดแก่ทายาท (มาตรา 1599) และมรดกของผู้ตายได้แก่ ทรัพย์สินทุกชนิดของผู้ตายตาม มาตรา 1600 และมรดกของผู้ตายนี้ย่อมตกทอดแก่ทายาททันทีที่เจ้ามรดกถึงแก่ความโดยทายาทไม่ต้องแสดงเจตนาสนองรับ


☺ กองมรดกของผู้ตาย ได้แก่


1. ทรัพย์สินและสิทธิ คำว่า “ทรัพย์สิน” มีความหมายตามมาตรา 137 และมาตรา 138 คือวัตถุที่มีรูปร่าง รวมทั้งวัตถุไม่มีรูปร่าง ซึ่งอาจมีราคาและถือเอาได้ทรัพย์สินและสิทธิต้องเป็นของผู้ตายระหว่างมีชีวิต เมื่อผู้ตายถึงแก่ความตายจึงตกทอดเป็นมรดก ถ้าทรัพย์สินนั้นไม่เป็นของผู้ตายแล้วก่อนตายย่อมไม่เป็นมรดก


2.หน้าที่และความรับผิดต่างๆ ทายาทต้องรับเอาไปทั้งหน้าที่และความรับผิดต่างๆ ด้วย เว้นแต่ทรัพย์สิน สิทธิหน้าที่และความรับผิดนั้นโดยสภาพแล้วเป็นการเฉพาะตัวของผู้ตาย


☺ ทายาทที่มีสิทธิได้รับมรดกตามกฎหมาย


1. ทายาทโดยธรรม ได้แก่บุคคลตามมาตรา 1629


2. ทายาทโดยพินัยกรรม


☺ การเป็นทายาท ตามมาตรา 1604


1.ทายาทที่เป็นบุคคลธรรมดา ซึ่งมีสิทธิรับมรดกของผู้ตายนั้น ต้องมีสภาพบุคคล คือ เริ่มแต่เมื่อคลอดแล้วอยู่รอดเป็นทารกและสิ้นสุดลงเมื่อตายตามมาตรา 15 วรรคแรก เหตุนี้ แม้ก่อนตายบุคคลใดเป็นทายาทแต่บุคคลนั้นตายก่อนเจ้ามรดกก็ย่อมไม่สามารถเป็นทายาท


2.ทารกในครรภ์มารดาขณะที่บิดาตาย แม้จะยังไม่คลอดยังไม่มีสภาพบุคคลก็มีสิทธิรับมรดกบิดาได้ ถ้าคลอกมาแล้วอยู่รอด


☺ การถูกกำจัดมิให้ได้รับมรดก เพราะยักย้ายหรือปิดบังทรัพย์มรดก ตามมาตรา 1605


ถูกกำจัดหลังเจ้ามรดกตาย


ไม่อาจถอนข้อกำจัด (ให้อภัย) ได้ตาม


ผู้สืบสันดานของผู้ถูกกำจัดสืบมรดกต่อได้ ตามมาตรา1607 และ ฎ.478/2539


1. การกำจัดมิให้ได้รับมรดกตามมาตรา 1605 เป็นบทบัญญัติให้ทายาทเสียสิทธิในมรดกโดยผลของกฎหมาย และเป็นการเสียสิทธิเพราะปิดปังหรือยักย้ายทรัพย์มรดก ซึ่งการปิดบังและยักย้ายได้กระทำขึ้นภายหลังเจ้ามรดกตายแล้ว ต่างกับการถูกกำจัดมิให้รับมรดกฐานเป็นผู้ไม่สมควรตามมาตรา1606 ซึ่งอาจเกิดก่อนหรือหลังเจ้ามรดกตายแล้วก็ได้


⇑ การถูกกำจัดตามมาตรานี้ ถ้าผู้ถูกกำจัดมีผู้สืบสันดานๆ ของผู้ถูกกำจัดนั้นมีสิทธิรับมรดกแทนที่ผู้ถูกกำจัดได้ตามมาตรา 1607


2. คำว่า ทายาท ตามมาตรานี้หมายถึง ทายาทโดยธรรมและผู้รับพินัยกรรม ตามมาตรา1603 และมาตรา 1651 (1) เพราะมาตรา 1605วรรคท้ายยกเว้นไม่ให้ใช้บังคับเฉพาะผู้รับพินัยกรรมเฉพาะสิ่งอย่างตามมาตรา 1651(2) เท่านั้น


บุตรนอกกฎหมาย ตามมาตรา 1627


บุตรนอกกฎหมายที่บิดารับรองได้แก่


1. เด็กที่เกิดจากหญิงที่มิได้สมรสกับชาย ซึ่งตามมาตรา 1546 ให้ถือว่าเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของหญิงเท่านั้น และ


2. ชายผู้เป็นบิดาได้รับรองเด็กว่าเป็นบุตรของตนโดยพฤตินัย


- บิดาเป็นคนแจ้งในสูติบัตรว่าตนเป็นบิดา


- เมื่อเด็กโตก็ให้การศึกษาให้ความอุปการะเลี้ยงดู


- ยอมให้ใช้นามสกุลของบิดา


- ลงทะเบียนในสำมะโนครัวว่าเป็นบุตร


การรับรองว่าเด็กเป็นบุตรยังอยู่ในครรภ์มารดา เช่น แจ้งให้ญาติผู้ใหญ่ทราบว่า เด็กในครรภ์เป็นบุตรของตน, นำมารดาเด็กไปฝากครรภ์ หรือแนะนำมารดาเด็กให้เพื่อนรู้จักและนำเข้าสังคม เป็นต้น


ข้อสังเกต การที่บิดานอกกฎหมายรับรองการเป็นบุตร หาทำให้บิดานั้นมีสิทธิรับมรดกของบุตร


นอกกฎหมาย


☺ บุตรบุญธรรม ตามมาตรา 1598/28 ประกอบกับมาตรา 1627


บุตรบุญธรรมนั้นกฎหมายให้ถือว่าเป็นผู้สืบสันดานเหมือนกับบุตรชอบด้วยกฎหมาย บุตรบุญธรรมจึงมีสิทธิรับมรดกของผู้รับบุตรบุญธรรมตามมาตรา 1627, 1629 (1) และเนื่องจากบุตรบุญธรรมไม่สูญสิทธิและหน้าที่ในครอบครัวที่ได้กำเนิดมา บุตรบุญธรรมจึงมีสิทธิรับมรดกของบิดามารดาผู้ให้กำเนิดและญาติทางครอบครัวที่ได้กำเนิดด้วย ในทางกลับกันบิดามารดาผู้ให้กำเนิดหรือญาติก็มีสิทธิรับมรดกของบุตรที่ไปเป็นบุตรบุญธรรมเช่นเดียวกัน


ระวัง บุตรบุญธรรมมีสิทธิรับมรดกของผู้รับบุตรบุญธรรมเท่านั้น แต่หามีสิทธิรับมรดกของคู่สมรสของผู้รับบุตรบุญธรรมซึ่งไม่ได้จดทะเบียนรับบุตรบุญธรรมด้วยไม่ และเพียงแต่คู่สมรสของผู้รับบุตรบุญธรรมให้ความยินยอมก็ไม่ถือว่าคู่สมรสนั้นได้รับบุตรบุญธรรมด้วยตามมาตรา 1598/25,1598/26


☺ การแบ่งทรัพย์มรดกระหว่างทายาทโดยธรรมในลำดับและชั้นต่างๆ มาตรา 1629


ใช้หลัก ญาติสนิทตัดญาติห่างๆ ดังบัญญัติไว้ในมาตรา 1630วรรคแรก ส่วนคู่สมรสเป็นทายาทโดยธรรมที่ไม่อยู่ในบังคับมาตรา 1629 (1) ถึง (6) และมาตรา 1630 จึงมีสิทธิได้รับส่วนแบ่งมรดกเสมอตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 1635


1.ทายาทลำดับที่ 1 ผู้สืบสันดาน ตามมาตรา 1629 (1) หมายถึง ผู้สืบสายโลหิตโดยตรงลงมาของเจ้ามรดก ได้แก่ บุตร หลาน เหลน ลื้อ และต่อจากลื้อลงไป คือ หลีด หลี้ จนขาดสายโดยไม่จำกัดว่าสืบต่อกันกี่ชั้น บุคคลเหล่านี้ต่างเป็นผู้สืบสันดานของเจ้ามรดก แต่ถ้าเจ้ามรดกมีผู้สืบสันดานชั้นบุตร ทำให้ผู้สืบสันดานชั้นหลานหรือชั้นต่อๆ ไป ไม่มีสิทธิรับมรดก เว้นแต่จะรับมรดกแทนที่ตามมาตรา 1631, 1639


2. ทายาทลำดับที่ 2บิดามารดา ตามมาตรา 1629 (2) กรณีของบิดาที่จะมีสิทธิรับมรดกของบุตรในฐานะทายาทโดยธรรม จะต้องเป็นบิดาที่ชอบด้วยกฎหมายเท่านั้น


3. ทายาทลำดับที่ 3 พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน ตามมาตรา 1629 (3) บุตรบุญธรรมไม่ใช่พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันกับบุตรเจ้ามรดก (รับมรดกแทนที่ได้ตามมาตรา 1639)


4. ทายาทลำดับที่ 4 พี่น้องร่วมบิดาหรือร่วมมารดาเดียวกัน ตามมาตรา 1629 (4) สามารถรับมรดกแทนที่ได้ตามมาตรา 1639


5.ทายาทลำดับที่ 5ปู่ ยา ตา ยาย ตามมาตรา 1629 (5) ถ้าบุคคลเหล่านี้ตายก่อนเจ้ามรดก ผู้สืบสันดานของบุคคลเหล่านี้ ไม่มีสิทธิรับมรดกแทนที่ เพราะไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้ให้ทำได้ตามมาตรา 1639และตามมาตรา 1629 (5) นี้บัญญัติให้ ปู่ ย่า ตา ยาย เท่านั้นเป็นทายาทโดยธรรม ดังนั้น ทวด จึงไม่ใช่ทายาทโดยธรรม


6. ทายาทลำดับที่ 6 ลุง ป้า น้า อา ตามมาตรา 1629 (6) ญาติในลำดับ 6 นั้นย่อมรับมรดกแทนที่กันได้ตามมาตรา 1639

   พินัยกรรม


   พินัยกรรม เป็นนิติกรรมที่บุคคลหนึ่งได้แสดงเจตนากำหนดการเผื่อตายในเรื่องทรัพย์สินของตนเองหรือในการต่างๆ อันจะเกิดเป็นผลบังคับได้ตามกฎหมายเมื่อตนตาย (ม.1646)


   ความสามรถของผู้ทำพินัยกรรม กฎหมายกำหนดว่า ผู้เยาว์จะทำพินัยกรรมได้ต่อเมื่อมีอายุครบ 15 ปีบริบูรณ์ (ม.25) มิฉะนั้นตกเป็นโมฆะ (ม.1703) นอกจากนี้ บุคคลที่ถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ ก็ไม่สามารถทำพินัยกรรมได้ หากฝ่าฝืนทำลง พินัยกรรมนั้นจะตกเป็นโมฆะ (ม.17)


แบบของพินัยกรรม (ม.1648) มีด้วยกัน 5 ประเภท คือ


1. พินัยกรรมแบบเขียนเองทั้งฉบับ (ม.1657)


2. พินัยกรรมแบบธรรมดา (ม.1656)


3. พินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมือง (ม.1658)


4. พินัยกรรมแบบเอกสารลับ (ม.1660)


5. พินัยกรรมแบบทำด้วยวาจา (ม.1663)


อนึ่ง การทำพินัยกรรมนั้น แม้ไม่สมบูรณ์ตามแบบหนึ่ง อาจสมบูรณ์ตามแบบอื่นได้


ผู้ที่ไม่อาจเป็นผู้รับพินัยกรรม (ม.1653)


1. ผู้เขียนพินัยกรรม


2. ผู้ที่เป็นพยานในพินัยกรรม


3. คู่สมรสของผู้เขียนหรือคู่สมรสของผู้เป็นพยานในพินัยกรรม


นิติบุคคลอาจเป็นผู้รับพินัยกรรมได้ แต่ทั้งนี้จะต้องไม่ขัดต่อวัตถุประสงค์ในข้อบังคับหรือตราสารจัดตั้งนิติบุคคลนั้น ๆ


กฎหมายอาญา

    กฎหมายอาญา คือ กฎหมายที่ว่าด้วยความผิดและโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิด ตัวบทที่สำคัญๆ ของกฎหมายอาญาก็คือ ประมวลกฎหมายอาญา นอกจากประมวลกฎหมายอาญาแล้ว ยังมีพระราชบัญญัติอื่นๆที่กำหนดโทษทางอาญาสำหรับการฝ่าฝืนพระราชบัญญัตินั้น เช่น พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พระราชบัญญัติการพนัน เป็นต้น


    ทุกสังคมย่อมมีกฎเกณฑ์ ข้อบังคับความประพฤติของสมาชิกในสังคมนั้นๆ บุคคลใดมีการกระทำที่มีผลกระทบกระเทือนต่อสังคมหรือคนส่วนใหญ่ จัดเป็นการกระทำความผิดทางอาญา ดังนั้นกฎหมายอาญาจึงเป็นกฎหมายซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการป้องกันสังคม เพื่อให้เกิดความสงบเรียบร้อยโดยการกำหนดว่า การกระทำใดเป็นความผิดอาญาและได้กำหนดโทษของผู้ฝ่าฝืน กระทำความผิดนั้นๆ

    1. ความผิดทางอาญา


   ความผิดทางอาญา คือ การกระทำที่มีผลกระทบกระเทือนต่อสังคมหรือคนส่วนใหญ่ของประเทศ เมื่อบุคคลใดกระทำความผิดทางอาญา จะต้องได้รับโทษตามกฎหมายมากน้อยเพียงใดนั้นขึ้นอยู่กับความร้ายแรงของการกระทำความผิด กฎหมายมิได้ถือว่าการกระทำความผิดทุกอย่างร้ายแรงเท่าเทียมกัน การลงโทษผู้กระทำความผิดจึงขึ้นอยู่กับการกระทำ และสังคมมีความรู้สึกต่อการกระทำนั้นๆ ว่า อะไรเป็นปัญหาสำคัญมากน้อยเพียงใด ซึ่งอาจจะแบ่งการกระทำความผิดอาญาออกเป็น 2 ลักษณะ คือ


1.1 ความผิดต่อแผ่นดิน หมายถึง ความผิดในทางอาญา ซึ่งนอกจากเรื่องนั้นจะมีผลต่อตัวผู้รับผลร้ายแล้ว ยังมีผลกระทบที่เสียหายต่อสังคมอีกด้วย และรัฐจำเป็นต้องป้องกันสังคมเอาไว้ด้วยการยื่นมือเข้ามาเป็นผู้เสียหายเอง ดังนั้นแม้ผู้รับผลร้ายจากการกระทำโดยตรงจะไม่ติดใจเอาความ แต่ก็ยังต้องเข้าไปดำเนินคดีฟ้องร้องเอาตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษให้ได้


กรณีตัวอย่างที่ 1 นายมังคุดทะเลาะกับนายทุเรียน นายมังคุดบันดาลโทสะใช้ไม้ตีศีรษะนายทุเรียนแตก นายทุเรียนไปแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจให้ดำเนินคดีกับนายมังคุดในข้อหาทำร้ายร่างกายผู้อื่น ต่อมานายทุเรียนหายโกรธนายมังคุดก็ไม่ติดใจเอาเรื่องกับนายมังคุด แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจจะต้องดำเนินคดีกับนายทุเรียนต่อไปเพราะเป็นความผิดต่อแผ่นดิน


กรณีตัวอย่างที่ 2 นายแตงโมขับรถยนต์ด้วยความประมาทไปชนเด็กชายแตงไทยถึงแก่ความตายเป็นความผิดอาญาฐานขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ต่อมานายแตงกวาและนางแต่งอ่อนบิดามารดาของเด็กชายแตงไทย ได้รับชดใช้ค่าเสียหายจากนายแตงโมเป็นเงิน 200,000 บาทแล้ว จึงไม่ติดใจเอาความกับนายแตงโม แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจจะต้องดำเนินคดีกับนายแตงโมต่อไป เพราะความผิดฐานขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายเป็นความผิดต่อแผ่นดิน


1.2 ความผิดอันยอมความกันได้ หมายถึง ความผิดในทางอาญาซึ่งไม่ได้มีผลร้ายกระทบต่อสังคมโดยตรง หากตัวผู้รับผลร้ายไม่ติดใจเอาความแล้ว รัฐก็ไม่อาจยื่นมือเข้าไปดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดได้ และถึงแม้จะดำเนินคดีไปแล้ว เมื่อตัวผู้เสียหายพอใจยุติคดีเพียงใดก็ย่อมทำได้ด้วยการถอนคำร้องทุกข์ ถอนฟ้อง หรือยอมความ เช่น ความผิดฐานหมิ่นประมาท ความผิดเกี่ยวกับเสรีภาพ เป็นต้น


กรณีตัวอย่างที่ 1 นายโก๋และนางกี๋ลักลอบได้เสียกัน นายแฉแอบเห็นเข้า จึงได้นำความไปเล่าให้นายเชยผู้เป็นเพื่อนฟัง การกระทำของนายแฉมีความผิดฐานหมิ่นประมาท เมื่อนายโก๋และนางกี๋รู้เข้าจึงไปแจ้งความที่สถานีตำรวจ นายแฉไปหานายโก๋และนางกี๋ เพื่อขอขมานายโก๋และนางกี๋จึงถอนคำร้องทุกข์ดังนั้น เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงไม่มีอำนาจดำเนินคดีกับนายแฉอีกต่อไป ถือว่าเป็นความผิดอันยอมความกันได้


กรณีตัวอย่างที่ 2 นายตำลึงล่ามโซ่ใส่กุญแจประตูใหญ่บ้านของนายมะกรูด ทำให้นายมะกรูดออกจากบริเวณบ้านไม่ได้ นายมะกรูดต้องปีนกำแพงรั้งกระโดลงมา การกระทำของนายตำลึงเป็นความผิดฐานหน่วงเหนี่ยวกักขังทำให้ปราศจากเสรีภาพ นายมะกรูดจึงไปแจ้งความยังสถานีตำรวจ นายตำลึงได้ไปหานายมะกรูดยอมรับความผิด และขอร้องไม่ให้นายตำลึงเอาความกับตนเอง นายตำลึงเห็นใจจึงไปถอนคำร้องทุกข์ ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจก็จะดำเนินคดีต่อไปอีกไม่ได้เพราะเป็นความผิดอันยอมความกันได้

      2. ลักษณะสำคัญของกฎหมายอาญา


2.1 เป็นกฎหมายที่กำหนดเป็นความผิดชัดแจ้ง ในขณะกระทำความผิดต้องมีกฎหมายบัญญัติไว้แล้วอย่างชัดแจ้งว่าการกระทำนั้นเป็นความผิด เจ้าหน้าที่ผู้ใช้กฎหมายจะสร้างกฎหมายใหม่ขึ้นมาใช้บังคับแก่ประชาชนคนใดคนหนึ่งโดยเฉพาะไม่ได้ เช่น กฎหมายบัญญัติว่า “การลักทรัพย์เป็นความผิด” ดังนั้น ผู้ใดลักทรัพย์ก็ย่อมมีความผิดเช่นเดียวกัน


2.2 เป็นกฎหมายที่ไม่มีผลย้อนหลัง เป็นโทษไม่ได้แต่เป็นคุณได้ ถ้าหากในขณะที่มีการกระทำสิ่งใดยังไม่มีกฎหมายบัญญัติว่าเป็นความผิด แม้ต่อมาภายหลังจะมีกฎหมายบัญญัติว่าการกระทำอย่างเดียวกันนั้นเป็นความผิด ก็จะนำกฎหมายใหม่ใช้กับผู้กระทำผิดคนแรกไม่ได้


กรณีตัวอย่าง นายมะม่วงมีต้นไม้สักขนาดใหญ่ซึ่งขึ้นในที่ดิน ซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของเขา นายมะม่วงได้ตัดต้นสัก เลื่อยแปรรูปเก็บเอาไว้ ก่อนที่จะมีพระราชบัญญัติป่าไม้ ฉบับที่ 3 ออกมาบังคับใช้ ถือว่าไม้สักเป็นไม้หวงห้ามก็ตาม นายมะม่วงก็ไม่มีความผิด เพราะจะใช้กฎหมายใหม่ย้อนหลังลงโทษทางอาญาไม่ได้

    3. โทษทางอาญา


1) ประหารชีวิต คือ นำตัวไปยิงด้วยปืนให้ตาย


2) จำคุก คือ นำตัวไปขังไว้ที่เรือนจำ


3) กักขัง คือนำตัวไปขังไว้ ณ ที่อื่น ที่ไม่ใช่เรือนจำ เช่น นำไปขังไว้ที่สถานีตำรวจ


4) ปรับ คือ นำค่าปรับซึ่งเป็นเงินไปชำระให้แก่เจ้าพนักงาน


5) ริบทรัพย์สิน คือ ริบเอาทรัพย์สินนั้นเป็นของหลวง เช่น ปืนเถื่อน ให้ริบ ฯลฯ


    4. บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาและได้รับโทษทางอาญาเมื่อใด


บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาต่อเมื่อ


4.1 กระทำโดยเจตนา คือ การกระทำโดยรู้สำนึกในการที่กระทำและในขณะเดียวกันผู้กระทำประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้น


กรณีตัวอย่างที่ 1 นายฟักรู้ว่านายแฟง ซึ่งเป็นศัตรูจะต้องเดินผ่านสะพานข้ามคลองหลังวัดสันติธรรมทุกเช้าเวลาประมาณ 08.00 น. เขาจึงไปดักซุ่มอยู่ใกล้บริเวณนั้น เมื่อนายแฟงเดินมาใกล้นายฟักจึงใช้ปืนยิงไปที่นายแฟง 1 นัด กระสุนปืนถูกบริเวณหน้าอกของนายแฟง เป็นเหตุให้นายแฟงถึงแก่ความตาย นายฟักมีความผิดฐานฆ่าคนตายโดยเจตนา


กรณีตัวอย่างที่ 2 ดาวเรืองทะเลาะกับบานชื่น ดาวเรืองพูดเถียงสู้บานชื่นไม่ได้ ดาวเรืองจึงตบปากบานชื่น 1 ที่ ดาวเรืองมีความผิดฐานทำร้ายร่างกายโดยเจตนา


4.2 กระทำโดยไม่เจตนา แต่ต้องเป็นกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้ โดยแจ้งชัดให้รับผิดแม้กระทำโดยไม่เจตนากระทำโดยไม่เจตนา คือ ผู้กระทำไม่ได้ประสงค์ต่อผล หรือไม่อาจเล็งเห็นผลของการกระทำนั้นได้ เช่น เราผลักเพื่อนเพียงจะหยอกล้อเท่านั้น แต่บังเอิญเพื่อนล้มลงไป ศีรษะฟาดขอบถนนถึงแก่ความตาย เป็นต้น


4.3 กระทำโดยประมาท แต่ต้องเป็นกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องรับผิดเมื่อได้กระทำโดยประมาทการกระทำโดยประมาท คือ การกระทำความผิดมิใช่โดยเจตนา แต่กระทำโดยปราศจากความระมัดระวัง ซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้นจะต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์ และผู้กระทำอาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านี้ได้ แต่หาได้ใช้ให้เพียงพอไม่


กรณีตัวอย่าง นายเหิรฟ้าใช้อาวุธปืนขู่นายเหิรลม เพื่อไม่ให้เอาแป้งมาป้ายหน้านายเหิรฟ้า โดยที่นายเหิรฟ้าไม่รู้ว่าอาวุธปืนกระบอกนั้น มีลูกกระสุนปืนบรรจุอยู่ เป็นเหตุให้กระสุนปืนลั่นไปถูกนายเหิรลมตาม นายเหิรฟ้ามีความผิดฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย


อนึ่ง “การกระทำ” ไม่ได้หมายความเฉพาะถึงการลงมือกระทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งเท่านั้น แต่หมายความรวมถึงการงดเว้นการกระทำโดยประสงค์ให้เกิดผลและเล็งเห็นผลที่จะเกิดเช่น แม่จงใจทิ้งลูกไม่ให้กินข้าว จนทำให้ลูกตาย ตามกฎหมายแม่มีหน้าที่จะต้องเลี้ยงดูลูก เมื่อแม่ละเลยไม่ทำหน้าที่ดังกล่าวจึงเป็นเหตุให้ลูกตาย ย่อมเป็นการกระทำความผิดโดยงดเว้น ถ้าการงดเว้นนั้นมีเจตนางดเว้นก็ต้องรับผิดในฐานะกระทำโดยเจตนา ถือว่าเป็นความผิดฐานฆ่าคนตายโดยเจตนา






บุคคลจะต้องได้รับโทษทางอาญาต่อเมื่อ


1. การกระทำอันกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำนั้น บัญญัติเป็นความผิดซึ่งเป็นไปตามหลักที่ว่า “ไม่มีความผิดโดยปราศจากกฎหมาย”


2. กฎหมายที่ใช้ในขณะนั้นต้องกำหนดโทษไว้ด้วย เป็นไปตามหลักที่ว่า “ไม่มีโทษโดยไม่มีกฎหมาย” การลงโทษต้องเป็นโทษที่กำหนดไว้ในกฎหมาย เช่น กฎหมายกำหนดโทษปรับศาลจะลงโทษจำคุกไม่ได้ แม้ศาลจะลงโทษปรับศาลก็ลงโทษปรับเกินอัตราขั้นสูงที่กฎหมายกำหนดไว้ไม่ได้


กรณีตัวอย่าง ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 372 บัญญัติว่า ผู้ใดทะเลาะกันอย่างอื้ออึงในทางสาธารณะ หรือสาธารณสถานหรือกระทำโดยประการอื่นใด ให้เสียความสงบเรียบร้อยในทางสาธารณะหรือสาธารณะสถานต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 500 บาท ดังนั้น ถ้าผู้ใดกระทำความผิดตามมาตรานี้ศาลจะลงโทษจำคุกไม่ได้ เพราะความผิดตามมาตราดังกล่าวกำหนดเฉพาะโทษปรับเท่านั้น ถ้าศาลจะลงโทษปรับก็จะปรับได้ไม่เกิน 500 บาท

  
   5. เหตุที่กฎหมายไม่ลงโทษ


โดยหลักทั่วไปแล้วบุคคลใดกระทำความผิดต้องรับโทษ แต่มีบางกรณีที่กฎหมายไม่ลงโทษ เหตุที่กฎหมายไม่ลงโทษนั้น เป็นกรณีที่กฎหมายไม่ลงโทษผู้กระทำการอันกฎหมายบัญญัติเป็นความผิด หมายความว่า ผู้กระทำยังมีความผิดอยู่แต่กฎหมายยกเว้นโทษให้ ต่างกับกรณียกเว้นความผิด ซึ่งผู้กระทำไม่มีความผิดเลยทีเดียว อย่างไรก็ตามทั้งเหตุยกเว้นและหยุดยกเว้นความผิดต่างก็มีผลทำให้ผู้กระทำรับโทษเหมือนๆกัน


เหตุยกเว้นโทษทางอาญา


การกระทำความผิดอาญาที่ผู้กระทำไม่ต้องรับโทษถ้ามีเหตุอันจะอ้างได้ตามกฎหมาย เช่น


1. การกระทำความผิดด้วยความจำเป็น


2. การกระทำความผิดเพราะความบกพร่องทางจิต


3. การกระทำความผิดเพราะความมึนเมา


4. การกระทำตามคำสั่งของเจ้าพนักงาน


5. สามีภริยากระทำความผิดต่อกันในความผิดเกี่ยวกับทรัพย์บางฐาน


6. เด็กอายุไม่เกิน 14 ปีกระทำความผิด


     6. เด็กและเยาวชนกระทำความผิด


เด็กอาจกระทำความผิดได้เช่นเดียวผู้ใหญ่ แต่การกระทำความผิดของเด็กอาจได้รับโทษต่างจากการกระทำของผู้ใหญ่ ทั้งนี้เนื่องจากเด็กเป็นผู้อ่อนเยาว์ ปราศจากความรู้สึกรับผิดชอบหรือขาดความรู้สึกสำนึกเท่าผู้ใหญ่ การลงโทษเด็กจำต้องคำนึงถึงอายุของเด็ก ผู้กระทำความผิดด้วย กฎหมายได้แบ่งการกระทำความผิดของเด็กและเยาวชนออกเป็น 4 ช่วงอายุ คือ


1) เด็กอายุไม่เกิน 7 ปี


2) เด็กอายุกว่า 7 ปี แต่ยังไม่เกิน 14 ปี


3) เยาวชนอายุเกินกว่า 14 ปีแต่ไม่เกิน 17 ปี


4) เยาวชนอายุกว่า 17 ปี แต่ไม่เกิน 20 ปี


สำหรับเด็กในช่วงอายุไม่เกิน 7 ปี และเด็กอายุกว่า 7 ปีแต่ไม่เกิน 14 ปีเท่านั้น ที่กฎหมายยกเว้นโทษให้ ส่วนผู้ที่อายุเกินกว่า 14 ปีแต่ไม่เกิน 17 ปี และผู้ที่มีอายุกว่า 17 ปี แต่ไม่เกิน 20 ปี หากกระทำความผิดกฎหมายก็จะไม่ยกเว้นโทษให้ เพียงแต่ให้รับลดหย่อนโทษให้


6.1 เด็กอายุไม่เกิน 7 ปีการกระทำความผิด เด็กไม่ต้องรับโทษเลย ทั้งนี้เพราะกฎหมายถือว่าเด็กในวัยนี้ยังไม่สามารถรู้ผิดชอบได้ ฉะนั้นจะมีการจับกุมฟ้องร้อยเกในทางอาญามิได้


6.2 เด็กอายุกว่า 7 ปี แต่ไม่เกิน 14 ปีกระทำความผิด เด็กนั้นก็ไม่ต้องรับโทษเช่นกัน แต่กฎหมายให้อำนาจศาลที่จะใช้วิธีการสำหรับเด็ก เช่น


1) ว่ากล่าวตักเตือนเด็กนั้นแล้วปล่อยตัวไป


2) เรียกบิดามารดา ผู้ปกครองหรือบุคคลที่เด็กนั้นอาศัยอยู่มาตักเตือนด้วยก็ได้


3) มอบตัวเด็กให้แก่บิดามารดาหรือผู้ปกครองไป โดยวางข้อกำหนดให้บิดามารดาหรือผู้ปกครองระวังเด็กนั้นไม่ให้ก่อเหตุร้าย


4) มอบเด็กให้แก่บุคคลที่เด็กอาศัยอยู่ เมื่อเขายอมรับข้อกำหนดที่จะระวังเด็กนั้นไม่ให้ก่อเหตุร้าย


5) กำหนดเงื่อนไขเพื่อคุมความประพฤติ


6) มอบตัวเด็กให้กับบุคคลหรือองค์การที่ศาลเห็นสมควร เพื่อดูและอบรมและสั่งสอนเด็กในเมื่อบุคคลหรือองค์การนั้นยินยอม


7) ส่งตัวเด็กนั้นไปยังโรงเรียนหรือสถานฝึกอบรม หรือสถานที่ซึ่งจัดตั้งขึ้นเพื่อฝึกและอบรม


6.3 เยาวชนอายุเกิน 14 ปี แต่ไม่เกิน 17 ปีกระทำความผิด ผู้ที่อายุกว่า 14 ปีแต่ไม่เกิน 17 ปี กระทำการอันกฎหมายบัญญัติเป็นความผิด ให้ศาลพิจารณาถึงความรู้ผิดชอบและสิ่งอื่นทั้งปวงเกี่ยวกับผู้นั้นในอันควรวินิจฉัยว่าสมควรพิพากษาลงโทษผู้นั้นหรือไม่ศาลอาจใช้วิธีการตามข้อ 6.2 หรือลงโทษเช่นเดียวกับผู้ใหญ่ โดยลดมาตราส่วนโทษที่จะใช้กับเยาวชนนั้นลงกึ่งหนึ่ง ก่อนที่จะมีการลงโทษเยาวชนผู้กระทำความผิด


6.4 เยาวชนอายุกว่า 17 ปี แต่ไม่เกิน 20 ปีกระทำความผิด ผู้ที่อายุกว่า 17 ปี แต่ไม่เกิน 20 ปี กระทำอันกฎหมายบัญญัติเป็นความผิด ถ้าศาลเห็นสมควรจะลดมาตราส่วนโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นลง 1 ใน 3 หรือกึ่งหนึ่งก็ได้จะเห็นได้ว่า ผู้ที่อายุกว่า 17 ปี แต่ไม่เกิน 20 ปี กฎหมายไม่ถือว่าเป็นเด็ก แต่กฎหมายก็ยอมรับว่า บุคคลในวัยนี้ยังมีความคิดอ่านไม่เท่าผู้ใหญ่จริง จึงไม่ควรลงโทษเท่าผู้ใหญ่กระทำความผิด โดยให้ดุลพินิจแก่ศาลที่จะพิจารณาว่า สมควรจะลดหย่อนผ่อนโทษให้หรือไม่ ถ้าศาลพิจารณาสิ่งต่างๆที่เกี่ยวกับผู้กระทำความผิด เช่น ความคิดอ่าน การศึกษาอบรม ตลอดจนพฤติการณ์ในการกระทำความผิด เช่น กระทำความผิดเพราะถูกผู้ใหญ่เกลี้ยกล่อม หากศาลเห็นสมควรลดหย่อนผ่อนโทษให้ก็มีอำนาจลดมาตราส่วนโทษได้ 1 ใน 3 หรือกึ่งหนึ่งการลดมาตราส่วนโทษ คือ การลดอัตราโทษขั้นสูงและโทษขั้นต่ำลง 1 ใน 3 หรือกึ่งหนึ่งแล้ว จึงลงโทษระหว่างนั้น แต่ถ้ามีอัตราโทษขั้นสูงอย่างเดียวก็ลดเฉพาะอัตราโทษขั้นสูงนั้น แล้วจึงลงโทษจากอัตราที่ลดแล้วนั้น


กรณีตัวอย่าง คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 536/2516 จำเลยอายุ 19 ปี ยอมมีความรู้สึกผิดชอบน้อย ได้กระทำความผิดโดยเข้าใจว่าผู้ตายข่มเหงน้ำใจตน ศาลเห็นสมควรลดมาตราส่วนโทษลง 1 ใน 3



   สรุปสาระสำคัญ


1. กฎหมายอาญา คือ กฎหมายที่ว่าด้วยความผิดและโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิด


2. ความผิดทางอาญา คือ การกระทำที่มีผลกระทบกระเทือนต่อสังคมหรือคนส่วนใหญ่ของประเทศ


3. การกระทำความผิดอาญาออกเป็น 2 ลักษณะ คือ ความผิดต่อแผ่นดิน และความผิดอันยอมความกันได้


4. ลักษณะสำคัญของกฎหมายอาญาเป็นกฎหมายที่กำหนดเป็นความผิดชัดแจ้ง หรือเป็นกฎหมายที่ไม่มีผลย้อนหลัง


5. โทษทางอาญา มี 5 ชนิด


1. ประหารชีวิต 2. จำคุก


3. กักขัง 4. ปรับ


5. ริบทรัพย์สิน


6. กระทำโดยเจตนา คือ การกระทำโดยรู้สำนึกในการที่กระทำและในขณะเดียวกันผู้กระทำประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้น


7. กระทำโดยไม่เจตนา คือ ผู้กระทำไม่ได้ประสงค์ต่อผล หรือไม่อาจเล็งเห็นผลของการกระทำนั้นได้


8. การกระทำโดยประมาท คือ การกระทำความผิดมิใช่โดยเจตนา แต่กระทำโดยปราศจากความระมัดระวัง ซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้น จะต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์และผู้กระทำอาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านี้ได้ แต่หาได้ใช้ให้เพียงพอไม่


9. กฎหมายได้แบ่งการกระทำความผิดของเด็กและเยาวชนออกเป็น 4 ช่วงอายุ คือ


1) เด็กอายุไม่เกิน 7 ปี


2) เด็กอายุกว่า 7 ปี แต่ยังไม่เกิน 14 ปี


3) เยาวชนอายุเกินกว่า 14 ปีแต่ไม่เกิน 17 ปี


4) เยาวชนอายุกว่า 17 ปี แต่ไม่เกิน 20 ปี


 
Copyright 2010 pichaya. Powered by Blogger
Blogger Templates created by DeluxeTemplates.net
Wordpress by Wpthemescreator
Blogger Showcase